

บินไปสู่ภูไพร กับค้างคาวดนตรี ตอน 1
จาก นิตยสาร สารคดี ก.ย. 2549
ในหน้าสมุดบันทึกของปี ๒๕๔๑ ข้าพเจ้าบันทึกถึงการพบกับเขาครั้งแรก
เริ่มต้นจากการเดินทางกลับไปเยี่ยมหมู่บ้านสันเจริญ ที่ท่าวังผา (น่าน) มีชาวบ้านและเพื่อนวัยหนุ่มหลายคนในหมู่บ้านนี้ที่เรารักใคร่และนับถือกันเหมือนญาติพี่น้อง
บ้านไม้แบบปลูกติดพื้นหลังใหญ่ ซึ่งใช้อาศัยอยู่รวมกันหลายๆ ครอบครัวตามแบบชนเผ่าเมี่ยน จำนวนราว ๕๐ หลังคา กระจุกตัวรวมกันอยู่ในหุบเขาริมสายห้วยน้ำลัก ทางฟากตะวันออกของเทือกดอยยาว แทบทุกหลังคาเรือนมีป้ายสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติภูสัน ติดที่หน้าบ้าน ระหว่างทางเข้าหมู่บ้านตั้งแต่ปากถนนใหญ่ที่บ้านปางสา มีป้ายภาพเขียนขนาดใหญ่สื่อเรื่องราวการดูแลรักษาธรรมชาติติดตั้งอยู่เป็นระยะ ตรงมุมด้านล่างของภาพเหล่านั้นระบุนามผู้วาดว่า "คนภูไพร"
คนในหมู่บ้านบอกว่าเป็นนามแฝงของครูสมบัติ แก้วทิตย์ ซึ่งอาศัยอยู่กระท่อมบนยอดเขานอกหมู่บ้านโน่น
เย็นนั้นเพื่อนหนุ่มในหมู่บ้านพาข้าพเจ้ากับเพื่อนจากในเมือง ควบมอเตอร์ไซค์ปีนดอยขึ้นไปยังกระท่อมคนภูไพร
และสืบสาวความไปแล้วก็ช่างบังเอิญ--เรากำลังไปหาเขาในฐานะผู้นำข่าวสารด้วย--เป็นข่าวดีสำหรับเจ้าของกระท่อม
ข้าพเจ้าไม่รู้จักเขามากไปกว่าที่เพื่อนหนุ่มในหมู่บ้านพูดให้ฟัง แต่มีเพื่อนจากในเมืองคนหนึ่งที่มากับข้าพเจ้า รู้จักชื่อ สมบัติ แก้วทิตย์ เป็นอย่างดี ในฐานะหัวหน้าวงและมือกีตาร์ของวงดนตรีแนวสปีดเดทเมทัล (speed death metal) ที่ชื่อ ดอนผีบิน ซึ่งในเวลานั้นถือเป็นวงดนตรีในสาย underground (ใต้ดิน-ทำเองขายเอง ไม่สังกัดค่าย) แถวหน้าของเมืองไทย มีสาวกเรือนหมื่นเรือนแสนอยู่ทั่วประเทศ ด้วยความสดใหม่และคุณภาพดนตรีที่อยู่ในชั้นมือรางวัล
วันที่เราเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังหมู่บ้านสันเจริญ เป็นวันเดียวกับที่มีข่าวการประกาศผลรางวัลดนตรีสีสันอะวอร์ดส์ ประจำปี ๒๕๔๑ ในหน้าหนังสือพิมพ์ และเชื่อว่าข่าวนี้ยังเดินทางมาไม่ถึงกระท่อมบนยอดเขาของหัวหน้าวงดอนผีบิน เวลานั้นหมู่บ้านตีนดอยยาวยังอยู่นอกเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ ไม่มีไฟฟ้า และยังไม่ต้องพูดถึงว่าจะมีหนังสือพิมพ์รายวันให้อ่าน
เชื่อได้ว่าเขายังไม่รู้ข่าว และเรากำลังจะเป็นผู้นำสาร
“วงดอนผีบินได้รางวัลเพลงบรรเลงยอดเยี่ยม สีสันอะวอร์ดส์ประจำปีนี้”
เพื่อนของข้าพเจ้าบอกน้ำเสียงตื่นๆ เมื่อพบหน้าเขา ตอนนั้นดูเหมือนว่าคนภูไพรเพิ่งผละจากงานขุดดินลงกล้าไม้แถวข้างกระท่อม เขาละจากจอบ เดินไปหยิบขวดเหล้าป่ากับจอกไม้ไผ่มาวางลงกลางลานที่มีม้านั่ง-กุ๊ต๊น ของชนเผ่าเมี่ยนวางเป็นวงล้อมรอบกองไฟ เขาชวนเราลงนั่งพลางรวบชายผ้าขะม้าขึ้นซับเหงื่อบนใบหน้า ใช้ปลายนิ้วสางผมยาวสยายที่ปลิวฟูแต่ไม่ถึงกับรกรุงรังให้เข้าที่เข้าทาง แล้วรินน้ำใสๆ ในขวดลงกระบอกไม้ไผ่ ส่งให้แขกเยาวมิตรทีละคน
“เหรอ...?” เขารับข่าวสารที่น่ายินดีลิงโลดใจด้วยความรู้สึกกึ่งคำถาม
คนนำข่าวยืนยัน
เขาพยักหน้า
“อือ...ก็คงดีกับดอนผีบินนะ”
เขาพูดต่อมาอีกเพียงเท่านั้น แล้ววงอันประกอบไปด้วยศิลปินกลางไพรผู้เป็นเจ้าของบ้าน หนุ่มเมี่ยนในหมู่บ้าน ๔-๕ คน และข้าพเจ้ากับเพื่อนจากกรุงเทพฯ อีก ๒ คน ก็พากันไปสู่เรื่องราวอื่นๆ
ข้าพเจ้ามองไม่เห็นทีท่าอาการของความตื่นเต้นดีอกดีใจหรือความหลงใหลได้ปลื้มกับสิ่งที่ได้รับ-อย่างที่คนโดยทั่วไปมักต้องเป็น
เขาไม่รู้สึกยินดียินร้ายจริงๆ หรือเก็บซ่อนอาการนั้นไว้อย่างลึกเร้นเกินสายตาคนอื่น ?
ข้าพเจ้าก็ไม่ได้สนใจจะคิดต่อ
ร่วมวงกันจนดึกดื่นคืนนั้น มีเรื่องหนึ่งที่ข้าพเจ้าจดจำได้ติดใจ เพราะหัวหน้าวงดอนผีบินพูดซ้ำอยู่หลายครั้ง-เหมือนย้ำกับตัวเอง แต่ถ้อยคำนั้นเหมาะยิ่งที่จะเป็นข้อเตือนใจสำหรับคนทำงานเชิงศิลปะทั้งผอง
“เพลงคนอื่นนี่ผมก็ฟังนะ ฟังเยอะฉิบหายเลย ฟังๆๆ รับเข้ามา แต่พอจะทำงานของตัวเอง ต้องเอาออกมาจากภายในที่เป็นของเราเองเท่านั้น”

กลางฤดูฝน ๒๕๔๙
ข้าพเจ้ากับเพื่อนอีก ๒ คนจาก สารคดี เดินทางไปท่าวังผาอีกครั้ง หลังได้ข่าวว่าครูสมบัติ แก้วทิตย์ หรือคนภูไพร ได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมประจำปีที่ผ่านมา
ปัจจุบันคนภูไพรย้ายที่พำนักจากกระท่อมบนยอดเขาลงมาอยู่ที่บ้านเกิดในหมู่บ้านดอนตัน ห่างจากตัวอำเภอท่าวังผาลงมาตามลำน้ำน่านแค่ ๖ กิโลเมตร
ชีวิตในวัยหนุ่มใหญ่ของเขาดูน่าอิจฉา ที่ทุกวันได้ตื่นขึ้นมาเห็นฉากชีวิตที่คนในเมืองใฝ่ฝันหา ทุ่งราบริมแม่น้ำในหุบเขาอิ่มตาด้วยสีเขียวสดของทิวข้าวช่วงกำลังระบัดใบ โดยมีแนวคันนาขีดคั่นเป็นลายเส้นคล้ายตาหมากรุก ปูคลุมพื้นที่ตั้งแต่แถบริมฝั่งแม่น้ำแผ่ไกลขึ้นไปจนจดตีนเขา มีดอนเนินน้อยใหญ่แทรกอยู่เป็นหย่อม บริเวณนั้นจะเป็นที่ตั้งชุมชน
ตามถนนที่เลียบขนาบมากับแม่น้ำน่านจากตัวตลาดท่าวังผา ผ่านดอนเนินที่เป็นหมู่บ้านคนเมือง ๔-๕ แห่ง ก็มาถึงบ้านดอนตัน บ้านของครูสมบัติอยู่ริมถนนสายหลักที่ทอดผ่านไปกลางหมู่บ้าน เห็นรถแปลกหน้ามาจอดหน้าบ้าน เจ้าของบ้านคงรู้ว่าต้องเป็นคนที่นัดแนะกันไว้ เขาออกมาเปิดประตูรั้วบ้านต้อนรับด้วยตัวเอง
หนุ่มใหญ่ ผิวขาวอย่างคนพื้นเมืองภาคเหนือ ร่างสูงโปร่ง อยู่ในชุดเสื้อเชิ้ตแขนยาวพับปลายแขนขึ้นมาถึงข้อศอก กางเกงบลูยีนเก่าซีด สวมรองเท้าแตะฟองน้ำ ผมยาวม้วนมวยเก็บไว้ใต้ปีกหมวกผ้า เขายิ้มทักอ่อนโยนก่อนชวนให้เข้าบ้าน
บ้านหลังเล็กๆ ของคนภูไพรปลูกอยู่กลางพื้นที่ราวครึ่งไร่ภายในแนวรั้ว ฝาบ้านด้านหนึ่งติดกับอาคารสี่เหลี่ยมโถงสูงราวตึกสองชั้นก่อด้วยอิฐมอญ ด้านหน้าและด้านหลังเป็นลานโล่งใต้เพิงหลังคาสูงสำหรับทำงานศิลปะขนาดใหญ่ มุมในสุดด้านขวามีบ้านชั้นเดียวก่อด้วยอิฐอย่างมิดชิดรอบด้าน เขาบอกว่าเป็นบ้านของน้องชายคนเล็ก-นักร้องนำของวง ไว้สำหรับซ้อมร้องเพลง แต่ตอนนี้เจ้าของย้ายไปอยู่ที่กรุงเทพฯ ส่วนน้องชายอีกคนที่เป็นมือกลอง ก็ไปปักหลักตั้งรกรากอยู่ที่ป่าแดด (เชียงใหม่) สมบัติกับเมียและลูกสาววัยเรียนชั้นอนุบาล จึงต้องมาอยู่เป็นเพื่อนแม่ซึ่งอยู่ในบ้านหลังใหญ่ตรงมุมด้านในสุดด้านซ้าย
สมบัติบอกว่าแม้จะมีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ เขายังคงพยายามอยู่ตามวิถีธรรมชาติ ปลูกทุกอย่างที่กินและกินทุกอย่างที่ปลูก ทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมโลก และใช้ชีวิตอย่างสามัญ
ตอนเรามาถึง เขาเพิ่งผละจากงานในสวนครัว รอยขี้ดินและเศษใบไม้สดยังเปรอะอยู่ตามปลายขากางเกงและซอกนิ้วเท้า คราบเหงื่อชุ่มโชกอกเสื้อ และเป็นมันเยิ้มอยู่บนใบหน้า
ถ้าแฟนเพลงดอนผีบินมาเห็นในยามนี้ จะจำได้ไหมว่า นี่เป็นชายคนเดียวกับที่เคยยืนอยู่หน้าเวทีคอนเสิร์ต ไล่รัวปลายนิ้วกัดกรีดเส้นลวดบนคอกีตาร์ ปล่อยสุ้มเสียงที่เกรี้ยวกราดและนุ่มนวล พาคนฟังปานจะหลุดโลกออกไปถึงดวงจันทร์ !
แต่นี่แหละคือตัวตนของเขา และรูปแบบชีวิตที่เขาอยากเป็น

อาคารสี่เหลี่ยมโถงสูงเทียมตึกสองชั้น
ผนังแน่นหนาด้วยการก่ออิฐมอญซ้อนถึง ๒ แถว ที่เคยใช้เป็นห้องซ้อมดนตรีของวงดอนผีบิน ถูกปรับมาเป็นที่ทำการ “ศูนย์ปฏิบัติการรณรงค์ปลูกจิตสำนึกสิ่งแวดล้อมโลก ภูสันตะวันลับฟ้า” เดิมฝาผนังห้องซ้อมดนตรีปิดทึบทุกด้าน มีช่องเข้าออกเพียงทางเดียว เพื่อกันเสียงร้องแผดตะโกนและเสียงดนตรีอันเร่าร้อนรุนแรงไม่ให้เล็ดลอดออกไปรบกวนโสตประสาทชาวบ้านข้างเคียง หัวหน้าวงบอกว่าเพลงในแนวของพวกเขา การซ้อมต้องเหมือนการแสดงจริง ทั้งการเล่น เสียงร้อง อารมณ์ ไปจนถึงการปรับระดับเครื่องเสียง เมื่อไม่มีความจำเป็นต้องป้องกันเสียง ผนังด้านข้างจึงถูกเจาะเป็นช่องหน้าต่างติดกระจกใสให้แสงผ่านเข้ามาได้ และเจาะผนังด้านหน้าเป็นช่องประตูใหญ่ เปิดกว้างสำหรับทุกคนที่จะเดินเข้ามา
บนฝาผนังด้านในรอบทิศเต็มไปด้วยแผ่นป้ายข้อมูล ทั้งที่เกี่ยวกับเรื่องดนตรีและงานอนุรักษ์ รวมทั้งที่อยู่ในแฟ้มและที่เป็นรูปเล่ม เทป ซีดี ภาพวาด ภาพถ่าย ฯลฯ
ครูสมบัติจำข้าพเจ้าไม่ได้ แต่ดีที่เขาเป็นนักเก็บสะสมทุกอย่างไว้เป็นอย่างดี ระหว่างเปิดอ่านเอกสารข้อมูลเล่มหนึ่ง ข้าพเจ้าพบภาพถ่ายที่เราบันทึกไว้ในวันนั้น และได้ส่งกลับมาให้เขา เขาเขียนบรรยายใต้ภาพว่า นักศึกษากลุ่มกิจกรรมค่ายอาสาจากรามคำแหง มาเยี่ยมศูนย์ฯ ภูสัน
ข้าพเจ้าชี้ตัวเองในภาพถ่ายให้ครูดู พลันเขาก็จำความหลังขึ้นมาได้
“นั่นเป็นยุคที่ ๒ ในการทำงานของผม เวลานั้นผมลาออกจากครูแล้ว” ครูสมบัติพูดถึงความหลังครั้งก่อน
เราขอให้เขาลงรายละเอียดของงานที่เขาพูดถึง
ครูสมบัติเล่าเรื่องไปอย่างสบายๆ ไม่เล่นตัวและไม่วางภูมิ
หลังเรียนจบ ผมสอบบรรจุได้เป็นครูตั้งแต่อายุ ๑๙ ปี สอนวิชาศิลปะอยู่ที่โรงเรียนในอำเภอท่าวังผา อยู่ห่างจากบ้านสัก ๓ กิโลเมตรเท่านั้น เช้าก็ขับรถมอเตอร์ไซค์ไปสอน เย็นกลับบ้าน เป็นอยู่อย่างนั้น ๑๐ กว่าปี จนถึงปี ๒๕๓๔ ผมก็อาสาขึ้นไปเป็นครูบนดอยที่โรงเรียนบ้านสันเจริญ ซึ่งตอนนั้นถนนหนทางไม่ใช่อย่างทุกวันนี้ จากหมู่บ้านจะออกมาที่ตัวอำเภอสักครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย

- [ ป้ายภาพศิลปะของครูสมบัติ แก้วทิตย์ ติดตั้งอยู่ตามริมทาง
ในชุมชน โรงเรียน
เนื้อหาในภาพเป็นเรื่องของการปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
บางส่วนเป็นภาพของลูกศิษย์ที่ครูส่งเสริมให้เขียน อย่างในภาพขวา
ที่ครูกำลังสอนเทคนิคการใช้สีให้เหมาะกับอารมณ์ของภาพที่ลูกศิษย์เป็นผู้ร่างขึ้น
ครูกับศิษย์ร่วมกันวาดภาพนี้เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๙
ซึ่งในเวลานั้นคงไม่มีใครคาดคิดว่า
ในเดือนต่อมา เรื่องราวในป้ายภาพจะกลายเป็นความจริงขึ้นที่ท่าวังผา! ]
ผมไปถึงหมู่บ้านในตอนเย็น พระอาทิตย์จะลับลงหลังสันเขาพอดี ผมตื่นเต้นมากที่เห็นมันตระหง่านอยู่ตรงหน้า เหมือนเด็กชายได้มาพบภูเขาในความฝัน ผมชอบภาพนั้นที่สุด ตั้งแต่เด็กๆ มาแล้ว ตอนใกล้ค่ำผมชอบขึ้นไปนั่งบนหลังคาบ้าน ดูพระอาทิตย์ตกดิน สวยมากยามที่มันลับขอบเขา ทำประจำทุกวัน แล้วรู้ไหม-สันเขาเทือกที่ผมยืนมองนั้นก็คือเทือกดอยยาวนี่เอง มันเหมือนเป็นสัญญาณว่าทุกอย่างถูกวางไว้แล้ว ว่าวันหนึ่งผมจะต้องมาผูกพันกับเขาเทือกนี้ สุดท้ายเมื่อมาตั้งศูนย์อนุรักษ์ธรรมชาติ ผมจึงตั้งชื่อว่า ภูสันตะวันลับฟ้า นี่เป็นเรื่องในโลกส่วนตัวที่ไม่ค่อยได้เล่าให้ใครฟัง
คืนนั้นชาวบ้านเขาเรียกประชุมกัน
“ทำยังไงดี ครูยังไม่มีบ้านพักเลย”
พวกเขาหารือกัน แล้วตกลงกันว่าจะสร้างบ้านพักครูให้ผมอยู่
ตามสันเนินน้อยใหญ่ที่รายล้อมหมู่บ้านสันเจริญอยู่นั้น เมื่อมองจากโรงเรียน ผมเห็นยอดเขาลูกหนึ่งสูงเด่นกว่าเพื่อน ผมก็บอกชาวบ้านว่าขออยู่ตรงนั้น วันถัดมาเขาก็ระดมกำลังกันมาปลูกกระท่อมให้ผม วันเดียวเสร็จได้อยู่
ผมอยู่ที่นั่นคนเดียว เช้าก็ขี่มอเตอร์ไซค์ลงไปสอนหนังสือที่โรงเรียน ตอนเย็นกลับขึ้นมา ทำเพลง ทำงานศิลปะ นั่นไง รถคันนั้นยังอยู่เลย
ครูสมบัติชี้ไปที่ยุ้งข้าวหลังเล็กๆ ที่อยู่ระหว่างบ้านของแม่กับบ้านน้องชาย มอเตอร์ไซค์วิบาก Yamaha รุ่นเอนดูโร่ สีแดง จอดอยู่ใต้ถุนอย่างสง่างามเหมือนประติมากรรมที่เจ้าของจงใจให้อยู่ในฐานะอนุสาวรีย์แห่งเกียรติยศ
“ครูอยู่ที่กระท่อมนอกหมู่บ้านคนเดียว ?”
ข้าพเจ้าละสายตาจากรถ มาสบตาครู
“อยู่คนเดียวมาตลอด ไม่กลัวอะไร เราทำงานศิลปะ มันต้องการความเงียบสงบที่ได้ยินเสียงของธรรมชาติ”
ใจของข้าพเจ้าได้ยินเสียงหมู่แมลงไพรร้องระงมอยู่รอบชายคากระท่อมเปลี่ยว ขณะแสงตะวันสลายจากขอบฟ้า
“ครูกินอยู่อย่างไร ?”
“อย่างการค้างแรมในป่าของพวกชาวบ้าน เขาจะมีแค่ข้าวสาร เกลือ และน้ำมันหมู หุงข้าว แล้วก็เก็บผักเท่าที่หาได้จากข้างๆ กระท่อม บางทีก็เป็นผักที่ชาวบ้านเขาให้มา มีอะไรเขาก็มักเอามาแบ่งให้ครู เอาผักคลุกๆ กับน้ำมันหมู ใส่เกลือหน่อย แล้วเอาขึ้นไฟ หอม อร่อยง่ายๆ ไปอย่างนั้น”
“แล้วเริ่มทำงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตอนไหนครับ ?”
“หลังเลิกเรียนบางวัน พวกลูกศิษย์พาเดินสำรวจรอบๆ หมู่บ้าน” คำตอบประโยคแรกของครูเป็นเพียงบทนำเรื่อง
ต่อจากนั้นรายละเอียดอันเป็นเรื่องราวความหลังครั้งก่อนไกลก็ทยอยไล่ตามกันมาเป็นสาย
พวกเขาพาผมเดินเข้าไปตามทางเล็กๆ ที่เป็นทางเดินของชาวบ้าน บางช่วงเลียบเลาะไปตามริมห้วย มุดลอดป่าไปโผล่ที่กำเนิดน้ำแห่งหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า น้ำออกรู เป็นธารน้ำไหลหลั่งออกมาจากใต้ภูเขา ลงสมทบกับห้วยน้ำลัก แล้วไปลงลำน้ำยาว ซึ่งเป็นสาขาสายหนึ่งของแม่น้ำน่าน ผมก็เห็นว่าน่าจะร่วมกันอนุรักษ์บริเวณนั้นเอาไว้ จากนั้นก็ชักชวนคนในหมู่บ้านตั้งกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติภูสันตะวันลับฟ้า ชวนชาวบ้านอนุรักษ์น้ำออกรู ดูแลวังปลา แล้วพัฒนาไปทำการปักป้ายภาพ
ผมออกแบบโลโก้ของกลุ่ม แล้วทำป้ายชื่อบ้านสีเขียวแจกไปติดตามบ้านสมาชิก คล้ายเป็นข้อตกลงว่าคนในบ้านจะร่วมด้วยช่วยดูแลรักษาป่า บ้านสันเจริญเป็นสมาชิกเกือบทุกหลังคาเรือน
ตลอดเส้นทางเข้าหมู่บ้านและตามจุดสำคัญๆ ที่เราเรียกว่าจุดล่อแหลม ผมวาดภาพบนแผ่นไม้ขนาดใหญ่ไปติดตั้งไว้ สร้างจิตสำนึกให้แก่คนที่ได้เห็น
“เดี๋ยวจะพาไปดูของจริง”
ครูสมบัติพูดทิ้งท้ายเหมือนจงใจจะยั่วไว้ให้ติดตามต่อ

- [ ใต้เพิงหลังคาด้านหลังบ้าน ที่หมู่บ้านดอนตัน (ท่าวังผา) เป็นที่สำหรับทำงานศิลปะ ด้านหนึ่งจัดแสดงภาพ โปสเตอร์ และแผ่นป้ายข่าวสารข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับงานดนตรี รวมถึงจดหมายจากแฟนเพลงเป็นพันๆ ฉบับที่เห็นอยู่ในกระบะไม้ แต่หลังเหตุการณ์อุทกภัยครั้งร้ายแรงที่ท่าวังผาเมื่อปลายเดือนสิงหาคม (๒๕๔๙) ทุกสิ่งที่เห็นในภาพไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย ]
แม้อาคารสี่เหลี่ยมโถงสูงที่เคยเป็นห้องซ้อมดนตรี
จะถูกแปลงเป็นที่ทำการศูนย์อนุรักษ์ธรรมชาติไปแล้ว แต่มุมด้านในทั้งสองข้างยังมีตู้ลำโพงขนาดหลายวัตต์ติดตั้งอยู่-มุมละตัว
ครูสมบัติต้อนรับแขกหน้าใหม่ด้วยเพลงเบาๆ เหมือนจะให้เวลาพวกคออ่อนอย่างเราค่อยๆ ปรับหู ก่อนไปสู่สปีดเดทเมทัลเต็มรูปแบบ
ดวงตะวันถึงกาลจากลา เตือนนกกาถึงเวลาค่ำลง
ส่งเสียงร้องกันขับขาน เป็นสัญญาณคืนวันใกล้จบลง
เหมือนดังทุกอย่างเริ่มโรยรา บนฟากฟ้าเต็มด้วยผืนเมฆา
ความสับสนมืดมนย่างเข้ามา ค่ำคืนนี้ไร้แสงดวงดาว ค่ำคืนนี้ไร้แสงจันทรา
อุราข้าตรม นอนซมกับสายลมอันเหน็บหนาว
อยากจะบินบินไปให้สุดไกล จะพาใจลอยไปในนภา
พบพาฝันอันยิ่งใหญ่ ฝันอันแสนไกลเคยใฝ่หา
เรียกความฝันที่หลับใหลให้กลับมา เก็บความหวังคืนวันเคยผ่านมา
บินข้ามกาลเวลา ฝ่าฟันไปตามที่ใจต้องการ
เสียงสูงกังวานชัดถ้อยชัดคำของนักร้องนำ
สอดประสานไปกับเสียงกีตาร์ใสๆ
กับเสียงเบสทุ้มนุ่มที่เดินตามจังหวะหนักแน่นของกลองชุด ในเพลง “ไกลบ้าน”
จากอัลบั้มชุดแรกของวงดอนผีบิน
ก็อย่างที่สังเกตเห็นแต่แรก
เขาเป็นนักเก็บ เอกสารต่างๆ ได้รับการรวบรวมไว้อย่างใส่ใจและเป็นระบบ
นอกจากข้อมูลด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติแล้ว
ในกองข้อมูลและบนฝาผนังยังเต็มไปด้วยภาพถ่ายและข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาของวงดอนผีบิน
ซึ่งข้าพเจ้าสามารถคัดมาถ่ายทอดสู่ผู้อ่านได้โดยเขาไม่ต้องสาธยายใหม่
วงดอนผีบินเกิดจากการรวมตัวของสามพี่น้องตระกูลแก้วทิตย์
เมื่อปี ๒๕๒๘ ภายใต้การนำของพี่ชายคนโต คือครูสมบัติ เป็นหัวหน้าวง
ทำหน้าที่เขียนเพลงและเป็นมือกีตาร์ คนกลางชื่อสมศักดิ์ ตำแหน่งกลอง
และน้องคนเล็กชื่อสมคิด เป็นนักร้องนำ และเล่นเบส
ชื่อของวงแปลงมาจากชื่อสถานที่ในแถบบ้านเกิด
บริเวณนอกหมู่บ้านดอนตันที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าต่อกันมาว่า
เคยเป็นทุ่งสมรภูมิระหว่างกลุ่มชนต่างเผ่าพันธุ์
ที่มักยกทัพมาประจันหน้าและห้ำหั่นประหัตประหารกันหลายครั้งหลายครา
เกิดการล้มตายของผู้คนจำนวนนับไม่ถ้วน
จึงเชื่อกันว่ามีดวงวิญญาณมากมายสิงสถิตอยู่แถวนั้น
แล้วยามค่ำคืนชาวบ้านก็มักเห็นดวงไฟลอยขึ้นจากพื้น
ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นดวงวิญญาณของผีสางที่เร่ร่อน
เลยพากันเรียกที่แถวนั้นว่า ดอนผีลอย
ครูสมบัติประทับใจในชื่อนั้น
เมื่อหยิบนำมาเป็นชื่อวงก็แปลงคำเป็น ดอนผีบิน ให้ฟังดูหลอนๆ
เหมือนแนวเพลงของวง แล้วหัวหน้าวงก็จัดการออกแบบกลุ่มคำนั้นเป็นรูปค้างคาว
ใช้เป็นโลโก้ของวง ด้วยความประทับใจในบุคลิกเฉพาะของสัตว์ราตรีชนิดนั้น
วงดอนผีบินทำเพลงชุดแรกชื่อ
โลกมืด ในรูปแบบ underground ทำเองขายเองโดยไม่เข้าสังกัดค่ายเพลง
ซึ่งในห้วงเวลานั้นเมืองไทยยังแทบไม่รู้จักเพลงแนวเดทเมทัลด้วยซ้ำ
และวงการเพลงใต้ดินในขณะนั้นก็เป็นของเพลงแนวเพื่อชีวิตเป็นหลัก
แต่ถึงอย่างนั้นดอนผีบินยังได้รับการยอมรับจากแฟนเพลงแนวฮาร์ดคอร์อย่างกว้างขวาง
ด้วยความสดใหม่ แหวกแนว
และแฟนเพลงต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันมาตลอดว่าดอนผีบินเป็น “ของแท้”
หลังจากนั้นอีกปี อัลบั้มชุดที่ ๒ ชื่อ เส้นทางสายมรณะ ก็ออกตามมา ด้วยกลิ่นอายดนตรีที่หนักหน่วงรุนแรงยิ่งกว่าชุดแรก
แล้วตามด้วยอัลบั้มชุดที่ ๓ ชื่อ อุบาทว์-อุบัติ ในอีกปีต่อมา
ในอัลบัมที่
๔ ชุด สองฟากฝั่ง ดอนผีบินเดินเข้าสู่สังกัดค่ายเพลง
แต่เนื้อดนตรีและการทำงานยังเป็นอิสระตามบุคลิกของดอนผีบิน เพลง “Return to
the Nature II” ในอัลบั้มชุดนี้ ได้รับรางวัลเพลงบรรเลงยอดเยี่ยม
สีสันอะวอร์ดส์ ประจำปี ๒๕๔๐
แล้วในปีต่อมา (๒๕๔๑) เพลง “ใดใดไร้ยืนยง” จากอัลบั้มชุดที่ ๕ สัญญาณเยือน ก็ได้รางวัลเพลงบรรเลงยอดเยี่ยม สีสันอะวอร์ดส์ ซ้อนอีกสมัย
ปี
๒๕๔๓ ออกอัลบั้มที่ ๖ ปรากฏการณ์-ปรากฏกาย
กับค่ายเพลงระดับยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย
แต่ยอดขายเพียงหลักหมื่นหลักแสนสำหรับเพลงนอกกระแสดูจะไม่เป็นที่พอใจของผู้บริหารค่ายเพลงเท่าใดนัก
นอกจากนี้ดอนผีบินยังมีอัลบั้มรวมเพลง บันทึกการออกรายการวิทยุ และบันทึกการแสดงสด อีกรวมทั้งสิ้น ๑๔ ชุด
ยอดขายอาจไม่ฟู่ฟ่าอย่างศิลปินในกระแส
แต่ดอนผีบินก็พอใจกับจำนวนแฟนเพลงที่เหนียวแน่นแน่นอนอยู่จำนวนหนึ่ง
ซึ่งประเมินจากยอดขายเทปและการตอบรับจากแฟนเพลงก็คำนวณว่ามีอยู่ราวแสนคน
ใต้เพิงหลังคาด้านหลังบ้านมีกระบะไม้ขนาดใหญ่ ยาวเท่าฝาด้านหนึ่งของบ้าน
ในนั้นเต็มไปด้วยจดหมายเป็นพันๆ ฉบับจากสาวกทั้งในกรุงเทพฯ
และตามหัวเมืองทั่วประเทศ
เรื่องตัวเลขจำนวนแฟนเพลงนี้ไม่ใช่คำคุยที่อ้างกันลอยๆ แต่ส่วนหนึ่งเคยได้พบเห็นตัวตนจริงๆ กันมาแล้ว
ในการแสดงสดครั้งใหญ่ คอนเสิร์ต Return to the Nature เมื่อปี ๒๕๔๐ สาวกดอนผีบินเดินทางมาชุมนุมกันแน่นเต็มลานหอประชุม AUA
ครูสมบัติเล่าเหตุการณ์วันงานคอนเสิร์ตว่า
“แฟนเพลงใส่ชุดดำหมด ดำมืดมากันเต็มถนน บางกลุ่มเหมารถทัวร์ขึ้นมาจากภาคใต้ก็มี”
ภาพถ่ายบันทึกเหตุการณ์ในวันนั้นหลายภาพ ติดอยู่บนฝาผนังภายในศูนย์ฯ
อารมณ์ของนักดนตรีแต่ละคนกำลังเต็มเหนี่ยวอยู่กับเครื่องดนตรีของตัวเอง
บนเวทีที่เจิดจ้าร้อนแรงด้วยสีแสงไฟ
ด้านหลังมองเห็นตู้ลำโพงยี่ห้อดังวางเรียงซ้อนกันเป็นแถว
“เราใช้ลำโพงของ
Marshall เท่านั้น แล้วเปิดสุดถึงเลข ๑๐ ทุกตัว
การปรับตั้งเสียงต้องอาศัยฝีมือที่ประณีตมาก
เอนจิเนียร์ของเราจะปรับไปจนถึงเวลาเล่นจริง
เขาจะคำนวณปริมาณคนดูด้วยว่าคนดูหนาแน่นเท่านี้ การดูดซับเสียงจะเท่าใด
ไม่ใช่ตั้งเอาไว้แล้วเสร็จเลย เพลงแนวสปีดเดทเมทัลต้องใช้เอฟเฟ็กต์เยอะ
การปรับเครื่องเสียงต้องใช้ความชำนาญมาก เสียงจึงจะออกมาสมบูรณ์ถึงอารมณ์
คนฟังเขาก็สุดเหวี่ยงไปกับเรา”
สุดเหวี่ยงกันจริงอย่างที่หัวหน้าวงเล่า
หลายคนเหงื่อโทรม บางคนถูกเพื่อนยกส่งไหลไปบนคลื่นคนดู
อีกจำนวนหนึ่งแสดงลีลาอาการต่างๆ กันไป
ภาพหนึ่งที่ถูกบันทึกไว้เป็นกลุ่มแฟนเพลงแถวหน้าสุดติดรั้วเวที
สะท้อนอารมณ์คลั่งไคล้สุดฤทธิ์ของเหล่าสาวก
เด็กหนุ่มคนหนึ่งซบหน้าลงแนบขอบรั้วเหมือนกำลังอยู่ในความเคลิบเคลิ้มสุดใจ
อีกบางคนประสานมือทั้งสองประกบกันยกขึ้นจดหน้าผาก
บางคนกางมือแผ่นิ้วออกเหมือนกำลังจะบิน
และอีกคนเอาสองมือกำรอบคอตัวเองปานว่าอยู่ในอาการสะใจถึงขั้นจะแดดิ้น
ข้าพเจ้าขอให้เจ้าของเสียงกีตาร์ช่วยบรรยายภาพ
เขาฉายภาพสังคมตามทัศนะของเขาก่อนนำเข้าสู่คำตอบ
ทุกวันนี้เราถูกบีบคั้นด้วยการควบคุม
แต่ก็ทำได้แค่ชีวิต จิตวิญญาณไม่มีใครควบคุมได้
ตลอดเวลาแต่ละคนก็หาช่องทางที่จะปลดปล่อย พอมาเจอดนตรีที่เป็นสะพาน
เขาก็... ”โอ้-นี่แหละที่ฉันค้นหามา นี่แหละสายจิตวิญญาณของฉันที่ฉันจะเดิน
เสียงนี่ไงที่ทำให้ฉันเห็นตัวฉัน”
นี่แค่เขาได้ยินเสียงเพลงจากเทปนะ
แล้วพอมาเจอของจริงในการเล่นสดนี่มันเหมือนได้ไปเหยียบดวงจันทร์เลยนะ
มันจะตื่นเต้นขนาดไหนล่ะ ก็เลยออกอาการ
เห็นอารมณ์ของแฟนเพลง ข้าพเจ้านึกอยากลองฟังเสียงเพลงในทำนองที่ว่านั้น
หัวหน้าวงดอนผีบินลุกไปเปลี่ยนเทปเป็นเพลงสปีดเดทเมทัลเต็มรูป
เสียงดนตรีหนักหน่วง
อึกทึก เสียงรัวกลองกระแทกกระทั้นสนั่นหวั่นไหวปานแผ่นดินจะแยก
ปนเปไปกับเสียงร้องแหบห้าวที่แผดตะโกนมาจากผนังลำคอ
ร้องรัวเร็วจนคนฟังแทบหายใจไม่ทัน
และยังมีเสียงกรีดร้องโหยหวนแทรกอยู่ในท่อนโซโลกีตาร์
กับเสียงสุนัขเห่าในท้ายเพลง
ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินเพลงไทยที่มันรุนแรง ดุดัน เท่านี้มาก่อนเลย เร็วจนต้องกางเนื้อเพลงอ่านตามไปด้วยจึงจะรู้ความ
“ร้องให้ช้า ชัด ฟังง่ายๆ ให้คนส่วนใหญ่เข้าใจด้วยไม่ได้หรือ ?”
ข้าพเจ้าถามมือกีตาร์-หัวหน้าวงดอนผีบิน เมื่อเพลง “เมืองมรณา” จบลง ไล่สายตาดูจากรายชื่อ แต่ละเพลงล้วนชวนให้อยากฟัง “สนธยาเยือน” “สังคมบัญชาการ” “ก่อนกาลก่อนกลไก” “ก่อนจะไร้ซึ่งวิญญาณ” หรือเพลงบรรเลงอย่าง “พบกันที่ดาวดวงใหม่” “สิ้นสุดความหมายแห่งการดำรง”
ครูสมบัติตะโกนตอบแข่งกับเสียงอินโทรของเพลงต่อไปที่กำลังเริ่มบรรเลง
“ช้าอยู่ไม่ได้แล้ว ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมมันเห็นนรกอยู่ตรงหน้าแล้ว ! เมื่อแนวคิดและเนื้อเพลงของเราเป็นอย่างนี้ เราก็ต้องหาทำนองดนตรีมาให้สอดคล้องกัน เราเห็นสภาพที่เป็นอยู่ จะเอาดนตรีเบาๆ มาเชื่อม มันไม่ได้แล้วไง แค่นั้นมันไม่พอแล้วที่จะมาบ่นอยู่ มันต้องรุนแรงไปกับเหตุการณ์”
“สถานการณ์เลวร้ายถึงขั้นนรกกวักมือเรียกแล้วหรือ ?”
“เดี๋ยวจะพาไปดู”
อ่านต่อ ตอน 2 >>